ติดต่อลงโฆษณา racingweb@gmail.com

ผู้เขียน หัวข้อ: Doctor At Home: ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)  (อ่าน 141 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 447
    • ดูรายละเอียด
Doctor At Home: ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)
« เมื่อ: 20/11/24, 13:16:49 »
Doctor At Home: ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)

ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) เป็นภาวะที่เยื่อบุบริเวณโพรงอากาศข้างจมูกเกิดการอักเสบบวมจากการติดเชื้อ ทำให้คัดจมูก มีน้ำมูกข้น ปวดบริเวณจมูก ตา โหนกแก้ม หน้าผาก ฟัน ไอ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น สามารถเกิดได้ทั้งแบบฉับพลันและเรื้อรัง ซึ่งการรักษาสามารถทำได้โดยการดูแลตนเองร่วมกับใช้ยาตามแพทย์สั่ง

ไซนัส (Sinus) คือ โพรงอากาศบริเวณกระดูกใบหน้า มี 4 คู่ ได้แก่ ไซนัสแมกซิลลา (Maxillary Sinus) อยู่ในกระดูกโหนกแก้ม ไซนัสเอธมอยด์ (Ethmoid Sinus) อยู่ระหว่างเบ้าตาและด้านข้างของจมูก ไซนัสฟรอนตัล (Frontal Sinus) อยู่ในกะโหลกส่วนหน้าผากระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง ไซนัสสฟีนอยด์ (Sphenoid Sinus) อยู่ในกระดูกส่วนที่เป็นฐานสมอง โดยภายในโพรงไซนัสแต่ละจุดจะมีเยื่อบุไซนัสทำหน้าที่ผลิตเมือกสำหรับดักจับฝุ่นและเชื้อโรค

อาการของไซนัสอักเสบ

เนื่องจากไซนัสอักเสบเกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุไซนัสที่บริเวณโหนกแก้ม โพรงจมูก และกระดูกหน้าผาก อาการของไซนัสส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ ดังนี้

    หายใจติดขัด อึดอัด คัดจมูก
    มีน้ำมูกสีเขียวหรือสีเหลืองข้น
    ประสาทรับกลิ่นไม่ดี
    ปวดบริเวณไซนัส ได้แก่ โหนกแก้ม หน้าผาก จมูกตรงระหว่างคิ้ว หัวคิ้ว และหัวตา
    ปวดฟัน ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น มีกลิ่นปาก
    มีไข้ อ่อนเพลีย
    ไอ เจ็บคอ มีมูกข้นในลำคอหรือมูกไหลลงลำคอ

อาการของไซนัสอักเสบมีระยะเวลาฟื้นตัวและหายดีแตกต่างกันตามชนิดของการอักเสบ คือ

    ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute Sinusitis) มักเกิดร่วมกับโรคหวัด ระยะเวลาป่วย 2–4 สัปดาห์
    ไซนัสอักเสบกึ่งเฉียบพลัน (Subacute Sinusitis) การอักเสบเกิดขึ้นยาวนานประมาณ 4–12 สัปดาห์
    ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic Sinusitis) การอักเสบเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป มักพบร่วมกับการป่วยโรคภูมิแพ้
    ไซนัสอักเสบซ้ำซ้อน (Recurrent Sinusitis) การอักเสบเกิดขึ้นมากกว่า 3 ครั้งใน 1 ปี โดยแต่ละครั้งมีอาการนานมากกว่า 10 วัน


สาเหตุของไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบ เกิดจากเยื่อบุไซนัสติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่ผ่านเข้ามาทางกระบวนการหายใจ จนเนื้อเยื่อเกิดอาการบวม สารคัดหลั่งเมือกเหลวที่ถูกผลิตขึ้นจึงเกิดการอุดตันกลายเป็นหนองอักเสบหรือน้ำมูกเขียวข้น ทำให้เกิดอาการคัดจมูก มีน้ำมูกไหล มีอาการปวดบริเวณไซนัสที่อักเสบ และมีอาการป่วยอื่น ๆ ตามมา

ไซนัสอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส พบในอัตรา 90% ของผู้ป่วย หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือการพัฒนาโรคที่รุนแรงขึ้นอาการจะทุเลาลงและหายดีเองภายในประมาณ 10 วัน ในขณะที่การติดเชื้อแบคทีเรียจนทำให้ไซนัสอักเสบจะพบได้ไม่บ่อยนัก ประมาณ 5–10% เท่านั้น และต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะ มักมีอาการนานกว่า 10 วัน หรืออาการแย่ลงหลังจากเป็นมานาน 5 วัน

ส่วนสาเหตุที่ทำให้อาการอักเสบยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ทุเลาลง หรือลุกลามยาวนานจนกลายเป็นไซนัสอักเสบระยะเรื้อรังมีหลายปัจจัย เช่น การป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะภูมิแพ้อากาศและหอบหืด การเกิดเนื้องอกในจมูก การเกิดผนังกั้นช่องจมูกคด การมีภูมิคุ้มกันต่ำ และการสูบบุหรี่

 
การวินิจฉัยไซนัสอักเสบ

การวินิจฉัยอาการไซนัสอักเสบอาจใช้วิธีสังเกตตนเองร่วมกับการตรวจจากแพทย์ ดังนี้
การวินิจฉัยด้วยตนเอง

อาการของไซนัสคล้ายกับอาการของไข้หวัด ผู้ป่วยควรสังเกตว่ามีน้ำมูกอุดตันจนหายใจลำบาก มีมูกข้นในลำคอหรือไหลลงสู่ลำคอ หรือมีอาการปวดตามจุดต่าง ๆ ที่เป็นตำแหน่งของไซนัสหรือไม่

และควรมาพบแพทย์ทันทีหากมีอาการป่วยรุนแรง เช่น มีอาการปวดศีรษะมาก ไข้สูง มองเห็นภาพซ้อนหรือการมองผิดจากปกติ ปวดบวมบริเวณดวงตา จมูก หน้าผาก แก้ม รักษาแล้วแต่อาการไม่ทุเลาลง มีอาการเรื้อรังยาวนานเกินกว่า 10 วัน หรือเคยมีประวัติป่วยด้วยไซนัสอักเสบมาก่อน


การวินิจฉัยโดยแพทย์

ในเบื้องต้นแพทย์จะซักถามอาการและประวัติการป่วยร่วมกับการตรวจร่างกาย โดยอาจพบเยื่อบุโพรงจมูกมีการอักเสบบวมแดงหรือมีหนอง ตรวจมูกหนองในลำคอ และกดตามจุดบริเวณใบหน้าเพื่อตรวจหาตำแหน่งอักเสบของไซนัส

ส่วนการตรวจพิเศษเพื่อให้ทราบผลที่แน่ชัด แพทย์มักใช้วิธีวินิจฉัยภาพที่ได้จาก

    Computed Tomography Scan (CT Scan) แพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเข้าไปทางหลอดเลือดดำ แล้วฉายรังสีเอกซ์ให้คอมพิวเตอร์สร้างภาพออกมา โดยในระหว่างการฉายรังสีจะไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวด
    Magnetic Resonance Imaging (MRI) เป็นเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า โดยจะส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นอวัยวะส่วนที่จะตรวจ แล้วสร้างเป็นภาพออกมา เป็นวิธีการตรวจที่มีความละเอียดและความแม่นยำสูง สามารถใช้ตรวจร่างกายภายในได้ทุกระบบ แพทย์จะวินิจฉัยจากภาพที่ได้ว่ามีสารเหลวอยู่ในบริเวณไซนัสหรือไม่และบริเวณใด แล้วเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป

นอกจากนั้น แพทย์ยังอาจใช้การตรวจเลือดเพื่อหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Cell) เพื่อดูการทำงานและปริมาณของเม็ดเลือดขาว ตรวจหาอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (Erythrocyte Sedimentation Rate, ESR) และตรวจหา C-Reactive Protein ในเลือด

อีกวิธีที่ใช้ตรวจบริเวณโพรงจมูกและไซนัส คือ Nasal Endoscopy เป็นการส่องกล้อง Endoscope โดยแพทย์จะสอดหลอดแก้วนำแสงเข้าไปทางจมูก แล้วตรวจดูจุดต่าง ๆ ว่ามีการอักเสบหรือมีหนองที่ไซนัสหรือไม่ผ่านภาพจากกล้อง


การรักษาไซนัสอักเสบ

การรักษาอาการอักเสบของไซนัสอาจทำได้ด้วยการดูแลตนเองและการเข้ารับการรักษาจากแพทย์ ดังนี้


การดูแลตนเองเบื้องต้น

หากป่วยด้วยไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน อาการจะทุเลาลงและหายดีภายใน 2–4 สัปดาห์ ในระหว่างนั้นผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองที่บ้านได้ ดังนี้

    การใช้ยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น กลุ่มยาแก้ปวดและลดไข้ อย่างพาราเซตามอล (Paracetamol) และไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) เพื่อช่วยลดไข้และบรรเทาอาการปวดบวมอักเสบ และกลุ่มยาลดน้ำมูกและแก้คัดจมูก (Decongestant) เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกหายใจติดขัด อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังของยากลุ่มนี้คือไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกินกว่า 1 สัปดาห์
    การใช้แผ่นประคบร้อน (Warm Pack) ประคบตามจุดต่าง ๆ ที่มีอาการปวดบนใบหน้า ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดและทำให้มูกเหลวที่อักเสบไหลออกมามากขึ้น
    การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ โดยก่อนการล้างจมูกควรล้างมือและอุปกรณ์ทุกชนิดให้สะอาด แล้วใช้กระบอกฉีดยาฉีดน้ำเกลือเข้าโพรงจมูกข้างหนึ่งอย่างช้า ๆ น้ำเกลือจะชะล้างหนองที่อักเสบและสิ่งสกปรกที่ตกค้างภายในโพรงจมูกให้ไหลออกมาทางจมูกอีกข้างหนึ่ง


การรักษาทางการแพทย์

หากเวลาผ่านไประยะหนึ่งแล้ว อาการไซนัสอักเสบยังไม่ทุเลาลง มีอาการไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือเป็นไซนัสอักเสบซ้ำหลายครั้ง ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการ โดยแพทย์จะมีวิธีการรักษา ดังนี้


การให้ยา

ยาบางชนิดต้องอยู่ภายใต้คำสั่งและการดูแลของแพทย์ ได้แก่ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (Nasal Corticosteroids) เป็นยาออกฤทธิ์เฉพาะที่ ใช้พ่นเข้าไปในจมูกเพื่อลดอาการอักเสบ ลดการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก มีประสิทธิผลทั้งทางการรักษาและทางการป้องกันการอักเสบ

ในบางกรณี หากสเตียรอยด์แบบสเปรย์รักษาไม่ได้ผล แพทย์จะให้ใช้สเตียรอยด์แบบหยด โดยผสมสเตียรอยด์ในน้ำเกลือที่ใช้ล้างจมูกแทน ผลข้างเคียงของการใช้ยานี้คือ อาจเกิดอาการระคายเคืองจมูก มีเลือดไหลจากจมูก หรือเจ็บคอร่วมด้วย ส่วนยาสเตียรอยด์แบบรับประทานจะใช้ในรายที่มีอาการป่วยรุนแรง และไม่ควรใช้สเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

สำหรับยาลดอาการคัดจมูกแบบรับประทาน เช่น pseudoephedrine และ phenylephrine แพทย์จะจ่ายยาในปริมาณสำหรับรับประทาน 10–14 วัน ยาลดอาการคัดจมูกแบบพ่นหรือหยด เช่น Oxymetazoline และ Hydrochloride ใช้รักษาภายใน 3–5 วัน

ส่วนยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) จะถูกนำมาใช้ในกรณีที่ไซนัสอักเสบจากแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาโดยพิจารณาจากความรุนแรงของโรคเป็นเวลา 10–14 วัน เช่น ยากลุ่ม Amoxicillin, Clarithromycin และ Azithromycin

แต่หากผู้ป่วยต้องอยู่อาศัยในบริเวณที่มีโอกาสติดเชื้อสูง หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังรับยาไปแล้ว 2–3 วัน แพทย์จะใช้ยารักษาในขั้นถัดไป เช่น Amoxicillin-clavulanate, Cephalosporins, Macrolides, Fluoroquinolones และ Clindamycin


การผ่าตัด

หากการรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผล แพทย์จะใช้การผ่าตัดด้วยวิธี Functional Endoscopic Sinus Surgery (FESS) เป็นการผ่าตัดผ่านทางรูจมูกด้วยกล้องเอ็นโดสโคปซึ่งเป็นกล้องขยายที่มีขนาดเล็ก แพทย์จะใช้เครื่องมือที่ถูกออกแบบมาพิเศษในการผ่าตัดนี้และมองภาพขณะผ่าตัดผ่านกล้อง ผู้ป่วยจะได้รับยาชาหรือยาสลบในขณะผ่าตัดโดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการป่วย


ภาวะแทรกซ้อนของไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังนี้

    เกิดภาวะประสาทรับกลิ่นแย่ลง (Hyposmia) หรือสูญเสียประสาทรับกลิ่น (Anosmia) นอกจากการอุดตันของมูกและหนองจะทำให้คัดจมูกหายใจลำบากแล้ว ยังมีผลต่อการรับกลิ่นของเซลล์บริเวณจมูกด้วย
    การติดเชื้อซ้ำซ้อน แม้จะมีภาวะไซนัสอักเสบไปแล้ว แต่บริเวณเยื่อบุไซนัสอาจอักเสบซ้ำได้ด้วยสาเหตุอื่น หรือการอักเสบอาจเกิดขึ้นกับไซนัสบริเวณอื่น ซึ่งจะเป็นผลให้อาการป่วยทรุดลงหรือพัฒนาไปสู่ภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง
    ต่อมน้ำลายอุดตัน เป็นผลพวงมาจากการอุดตันของหนองอักเสบในไซนัส หากไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดการติดเชื้อลุกลามไปยังโครงสร้างอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง
    การติดเชื้อที่อวัยวะและโครงสร้างเซลล์บริเวณใกล้เคียงกับไซนัส เป็นกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้แต่ไม่บ่อยนักแต่จัดว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การอักเสบที่ดวงตา เส้นเลือดอักเสบ เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การอักเสบของกระดูกและไขกระดูก


การป้องกันไซนัสอักเสบ

การป้องกันไซนัสอาจเสบอาจทำได้โดยการปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

    ป้องกันตนเองจากไข้หวัด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยไซนัสอักเสบ โดยสามารถทำได้ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง สร้างภูมิต้านทานโรคที่ดี รักษาสุขอนามัย ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้หรือสัมผัสผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคไข้หวัด
    หลีกเลี่ยงฝุ่นควันและมลภาวะ เมื่อต้องออกนอกบ้านหรือเดินทางในพื้นที่เสี่ยงต่อมลภาวะ ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก เมื่ออยู่ในบ้านก็ควรทำความสะอาดกำจัดฝุ่นและขนสัตว์อยู่เสมอ และหากป่วยเป็นภูมิแพ้ก็ควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้หรือสัมผัสสารที่ตนแพ้ด้วย
    ไม่สูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้คนที่กำลังสูบบุหรี่ เพราะควันและสารพิษจากบุหรี่จะทำให้เกิดการระคายเคืองในเนื้อเยื่อจมูกและไซนัส ทำให้เกิดการอักเสบตามมา
    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เช่น พืชผักผลไม้และอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างส้ม องุ่น ถั่ว ผักคะน้า หัวมัน ธัญพืช เนื้อปลา