ติดต่อลงโฆษณา racingweb@gmail.com

ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อมูลสุขภาพ: มะเร็งอัณฑะ (Testicular cancer)  (อ่าน 446 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 447
    • ดูรายละเอียด
มะเร็งอัณฑะ เป็นมะเร็งที่พบได้ค่อนข้างน้อย (ราวร้อยละ 2 ของมะเร็งทั้งหมด) พบมากในช่วงอายุ 15-35 ปี

ส่วนใหญ่เป็นเพียงข้างเดียว ราวร้อยละ 5 เป็นทั้ง 2 ข้าง


สาเหตุ

ยังไม่ทราบชัดเจน พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้ ได้แก่

    การมีประวัติเคยเป็นมะเร็งอัณฑะข้างหนึ่งมาก่อน
    การมีประวัติโรคมะเร็งอัณฑะในครอบครัว
    ภาวะอัณฑะไม่เลื่อนลงถุงอัณฑะและค้างอยู่ในช่องท้องหรือขาหนีบซึ่งเป็นมาแต่กำเนิด
    การติดเชื้อเอชไอวี


อาการ

มีก้อนแข็งที่อัณฑะไม่เจ็บและโตเร็ว หรือรู้สึกปวดตื้อหรือถ่วง ๆ ที่อัณฑะ หรือปวดตรงท้องน้อยส่วนล่างหรือขาหนีบ มีเลือดเจือปนในน้ำอสุจิ บางรายอาจมีอาการนมโตและเจ็บ หรืออ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ


ภาวะแทรกซ้อน

มะเร็งมักลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ช่องอก แอ่งเหนือไหปลาร้า และในระยะท้ายมักแพร่กระจายผ่านกระแสเลือดไปที่ปอด (เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก), และสมอง (ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก เวียนศีรษะ บ้านหมุน เดินเซ แขนขาชาและเป็นอัมพาต ชัก)


การวินิจฉัย

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจอัลตราซาวนด์ ตรวจระดับแอลฟาฟีโตโปรตีน (alpha fetoprotein) และฮอร์โมนเอชซีจี (HCG) ในเลือดและปัสสาวะ (พบว่าสูงกว่าปกติ)

แพทย์จะทำการตรวจตัดชิ้นเนื้อเวลาทำการรักษาด้วยการผ่าตัด จะหลีกเลี่ยงการตัดเอาตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจโดยไม่จำเป็น เนื่องจากอาจมีผลแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

หากพบว่าเป็นมะเร็งก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ (เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า-MRI, การตรวจเพทสแกน- PET scan เป็นต้น) เพื่อประเมินว่าเป็นมะเร็งระยะใด


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาโดยการผ่าตัด และให้รังสีบำบัด ส่วนในรายที่มะเร็งแพร่กระจาย ก็จะให้เคมีบำบัดร่วมด้วย

ผลการรักษา สำหรับมะเร็งชนิดนี้นับว่าดี และสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเนื่องเพราะส่วนใหญ่สามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก

ถ้าพบในระยะแรกหรือก่อนมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีมากกว่าร้อยละ 95

แม้เป็นมะเร็งระยะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ก็มีอัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปีมากกว่าร้อยละ 70


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีก้อนแข็งที่อัณฑะ, รู้สึกปวดตื้อหรือถ่วง ๆ ที่อัณฑะ, มีเลือดเจือปนในน้ำอสุจิ เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งอัณฑะ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
    ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
    ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
    ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
    ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
    ขาดยาหรือยาหาย
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะแก้ไขได้เป็นส่วนใหญ่


ข้อแนะนำ

1. โรคนี้สามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก และสามารถรักษาให้หายขาดได้เป็นส่วนใหญ่ แนะนำให้หมั่นตรวจอัณฑะด้วยตนเองเดือนละครั้ง ดูว่ามีก้อนผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ โดยการใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ค่อย ๆ คลำเลื่อนไปเรื่อย ๆ จะช่วยให้ค้นพบมะเร็งระยะแรกได้

2. ปัจจุบันมีวิธีบำบัดรักษาโรคมะเร็งใหม่ ๆ ที่อาจช่วยให้โรคหายขาดหรือทุเลา หรือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง มีความมานะอดทนต่อผลข้างเคียงของการรักษาที่อาจมีได้ อย่าเปลี่ยนแพทย์ เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี


ข้อมูลสุขภาพ: มะเร็งอัณฑะ (Testicular cancer) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/expert-scoops